การดำเนินคดี ของ เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544

กลม บางกรวย และพวก

เมื่อพนักงานสอบสวนลงความเห็นว่า มีการทุจริตการออกรางวัลที่ 1 ในงวดดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับชายดังกล่าวทั้ง 3 ซึ่งขึ้นเป็นกรรมการออกรางวัล รวมทั้งณรงค์ อุ่นแพทย์ (กลม บางกรวย), สุริยัน ดวงแก้ว (ผู้ใหญ่หมึก) และ พิชัย เทพอารักษ์ (ชัย โคกสำโรง) ในฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และซ่องโจร เนื่องจากเป็นการวางแผนหลอกเอาเงินรางวัลจากเจ้ามือสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) โดยพยายามให้เลข 1 ไปอยู่ในตำแหน่งเลขท้าย 3 ตัวของรางวัลที่ 1 (ศัพท์ที่ใช้ในวงการเรียกว่า 3 ตัวบน หรือ 3 ตัวตรง) ซึ่งถ้าเลข 1 ไปอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวมากเพียงใด ก็จะได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นเท่านั้น[23]ซึ่งพบว่า พิชัย ได้มุ่งซื้อสลากกินรวบแบบเลขท้าย หมายเลข 11 กับเจ้ามือสลากกินรวบรายหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์[21]ทำให้เจ้ามือสลากกินรวบรายดังกล่าว ต้องจ่ายเงินรางวัลเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท หลังการออกรางวัลงวดดังกล่าว โดยแต่ละรายถูกรางวัลเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกรางวัลกลับมีเพียงผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งณรงค์ พร้อมพวกได้ติดตามทวงหนี้เงินรางวัลที่ยังไม่ได้จ่ายจากเจ้ามือสลากกินรวบดังกล่าว พร้อมทั้งมีการข่มขู่เอาชีวิต หากไม่จ่ายเงินรางวัลดังกล่าวในคราวเดียว จนเจ้ามือสลากกินรวบรายดังกล่าวต้องขอกำลังตำรวจคุ้มครองตลอด 24 ชั่วโมง [18]อีกทั้งยังได้ฉ้อโกงเอาของชำร่วยราคาชิ้นละ 300 บาท ของสำนักงานฯ จำนวน 3 รายการ โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ยกเว้น ทองสุข ชนะการี ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548[17] ที่ให้การรับสารภาพ[1][24]

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2547 ศาลอาญามีคำวินิจฉัยในคดีนี้ว่า

การกระทำของพวกจำเลยเป็นความผิดต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ที่จะต้องปฏิบัติออกสลากด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ทำให้กระทบต่อความน่าเชื่อถือ สร้างความเสียหายโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม— คำพิพากษาศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.4228/2544[25]

พิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้ง 5 ในฐานฉ้อโกง 2 ปี และในฐานซ่องโจร 4 ปี รวมจำคุก 6 ปี[1][20]หลังจากนั้น จำเลยทั้งหมดได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2549 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกเว้นจำเลยที่ 5 (พิชัย) ศาลพิพากษาแก้ ให้จำคุกเฉพาะกรณีฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นเท่านั้น เนื่องจากโจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยดังกล่าวร่วมในการฝึกซ้อมการล็อกเลขอุปกรณ์การออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลประจำงวดดังกล่าว จึงพิพากษายกฟ้องในกรณีซ่องโจร ของจำเลยที่ดังกล่าว[26] โดยก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ปีดังกล่าว นายณรงค์ได้ยื่นขอประกันตัว เนื่องจากมีอาการป่วย โดยศาลตีหลักทรัพย์สำหรับประกันตัว 800,000 บาท[1]

จนในที่สุด ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ โดยในวันดังกล่าวมีเพียงจำเลยที่ 1 (สมตระกูล) และจำเลยที่ 5 (พิชัย) เท่านั้นที่มาฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาจึงได้ออกหมายจับจำเลยที่ 3 (ณรงค์ หรือ กลม บางกรวย) และจำเลยที่ 4 (สุริยัน) ให้มารับโทษตามคำพิพากษาดังกล่าว[20]โดยที่คดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดแล้วในส่วนของจำเลยที่ 2 (พ.อ.อ. กิตติชาติ)[21]ซึ่งในวันที่ 26 ธันวาคม ปีเดียวกัน ณรงค์ก็ขอเข้ามอบตัว ณ ศาลอาญา โดยให้เหตุผลที่ไม่สามารถเข้าฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาได้ เนื่องจากณรงค์ได้เข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคเลือดออกในก้านสมอง ทำให้ศาลอาญาออกหมายขังจำเลยตามคำพิพากษาศาลฎีกา และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวไปคุมขังตามคำพิพากษาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทันที[27]

สำหรับ ทองสุข ชนะการี ที่ถูกจับกุมในภายหลังนั้น[17] ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเมื่อ 30 ตุลาคม 2549 ให้จำคุกเช่นเดียวกับจำเลยที่ถูกศาลพิพากษาไปก่อนหน้า แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี และให้ชดใช้ค่าของชำร่วยที่ได้รับจากสำนักงานฯ จำนวน 3 รายการ รายการละ 300 บาท รวม 900 บาท [28]

เจ้าหน้าที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ส่วนการดำเนินคดีในส่วนของเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ นั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบปากคำพยานและผู้ต้องหา พบว่า มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ เข้าไปมีส่วนร่วมกับการทุจริตการออกรางวัลดังกล่าวฯ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหางบัตรเข้าชมการออกรางวัล 5 ราย เชิญผู้อื่นที่ไม่ได้รับการเลือก (จากการสุ่มหางบัตรเข้าชมการออกรางวัล) ไปเป็นกรรมการออกรางวัล โดยหลังจากเรียกขานหางบัตรดังกล่าวแล้ว พบว่ามีการสับเปลี่ยนนำผู้ที่เตรียมไว้ล่วงหน้าขึ้นไปแทน[8] และในกรณีลูกบอลออกรางวัลหมายเลขต่างๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า มีการลบคราบต่างๆ ก่อนส่งให้กองพิสูจน์หลักฐาน นอกจากนี้ยังมีการซ้อมทุจริตการออกรางวัลโดยใช้ลูกบอลดังกล่าว[16] ทำให้ในวันที่ 25 ตุลาคม 2549 ชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ อีก 2 คนถูก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในฐานทุจริตต่อหน้าที่ ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และช่วยเหลือบุคคลอื่นไม่ต้องรับโทษ จากกรณีดังกล่าว[29]

ต่อมา ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเมื่อ 29 เมษายน 2553 พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 3 เนื่องจากจำเลยที่ 3 (ชัยวัฒน์) ไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามฟ้องโจทก์ เนื่องจากมีการรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นและตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบกรณีดังกล่าว รวมทั้งจำเลยที่ 1 และ 3 ไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับกลุ่มจำเลยในคดีทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งฯ งวดดังกล่าว [1][30]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544 http://writer.dek-d.com/0012/story/viewlongc.php?i... http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=8... http://www.ryt9.com/s/abcp/265613 http://www.ryt9.com/s/prg/265470 http://www.ryt9.com/s/prg/271131 http://www.ryt9.com/s/sdp/265779 http://www.siamturakij.com/main/news_content.php?n... http://www.siamturakij.com/main/news_content.php?n... http://tnews.teenee.com/politic/5019.html http://whitelottery.com/files/content/lottery%20to...